วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

Fiat 500 ซิตี้คาร์ตัวจริงคืนชีพ

ผลผลิตจากต้นแบบที่ชื่อเทรปิอูโน (Trepiuno) ที่เปิดตัวในปี 2004 สุดท้ายก็กลายมาเป็นรถยนต์ในสายการผลิตจนได้ เมื่อเฟียตเดินหน้าพัฒนาโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง และสานฝันของแฟนๆ ค่ายเฟียตที่อยากเห็นการกลับมาของซิตี้คาร์รุ่นคลาสสิคอย่าง 500 โดยนำแฮทช์แบ็ก 3 ประตูรุ่นนี้มาปรับปรุงหน้าตาและส่งขายโดยใช้ชื่อ 500 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 50 ปีนับจากเฟียตเปิดตัว 500 รุ่นดั้งเดิมออกมาในปี 1957

การเปิดตัวครั้งใหม่ก็ยังอิงอยู่กับความสำเร็จในอดีต และเหมือนกับจุดเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพราะสาเหตุที่เฟียตเลือกวันที่ 4 กรกฎาคมเป็นวันเปิดตัวของ 500 ใหม่ก็ไม่ใช่เพราะเป็นวันชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ในวันนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว เฟียต 500 รุ่นดั้งเดิมได้ถูกเปิดตัวออกสู่ตลาดนั่นเอง ก่อน ที่ซิตี้คาร์รุ่นนี้จะได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั่วโลก และกลายเป็นรถยนต์คลาสสิคที่เปรียบเสมือนกับไอคอนของบริษัท เหมือนกับที่โฟล์คสวาเกนมีโฟล์คเต่ารุ่นแรก

ในเมื่อ 500 ใหม่ถูกตั้งเป้าหมายให้เป็นรถยนต์สำหรับคนทั่วโลก เฟียตก็เลยจัดทำเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อระดมสมองและความต้องการของแฟนๆ จากทั่วทุกภูมิภาค ก่อนที่จะมีความเห็นมากกว่า 3 ล้านความเห็นถูกส่งมา และทางทีมพัฒนาจำเป็นที่จะต้องกลั่นกรองเอาไอเดียที่แจ่มที่สุดมาใช้ในการ พัฒนาแต่ละส่วนของตัวรถตามสโลแกนที่ว่า ‘500 คือ รถยนต์ของประชาชน (ที่ร่วมพัฒนา) โดยประชาชน’ หรือ ‘The 500, the car of the people, by the people’

การ พัฒนามีขึ้นบนพื้นตัวถังแบบขับเคลื่อนล้อหน้าของรุ่นแพนด้า (ซึ่งฟอร์ดจะนำไปใช้ในการพัฒนาโฉมใหม่ของรุ่นกา-Ka ด้วยเช่นกัน) และตัวรถก็คงเอกลักษณ์ในแบบแฮทช์แบ็กทรง 3 ประตูที่มีโอเวอร์แฮงค์ด้านหน้าและหลังสั้นเพื่อความคล่องตัวในการขับขี่ใน เมือง โดยตัวถังมีความยาวเพียง 3,546 มิลลิเมตร กว้าง 1,627 มิลลิเมตร สูง 1,488 มิลลิเมตร และระยะฐานล้อ 2,300 มิลลิเมตร พร้อมกับน้ำหนักตัวรถที่เบามาก เพียง 865-930 กิโลกรัมเท่านั้น

อีกทั้งยังมั่นใจในความปลอดภัยได้ เพราะแม้จะเป็นรถยนต์ไซส์เล็ก แต่ก็ผ่านการทดสอบชนจาก EuroNCAP ด้วย ระดับการปกป้องผู้ขับและผู้โดยสารสูงสุด 5 ดาว พร้อมกับติดตั้งทุกถุงลมนิรภัยเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่น (สำหรับสเปกที่ขายในอิตาลี) ทั้งถุงลมนิรภัยคู่หน้า และถุงลมนิรภัยด้านข้างสำหรับเบาะหน้าแบบพองตัวได้ 2 ระดับทั้งคู่, ม่านถุงลมนิรภัย และถุงลมนิรภัยสำหรับหัวเข่า

ในช่วงแรกที่ทำตลาดมีเครื่องยนต์ให้เลือก 3 แบบและมีค่ามลพิษในไอเสียต่ำ และประหยัดน้ำมันเป็นเยี่ยม สามารถผ่านมาตรฐานไอเสียในระดับยูโร 4 โดยรุ่นเบนซินมี 2 แบบ คือ 4 สูบ SOHC 8 วาล์ว 1,200 ซีซี 69 แรงม้า ที่ 5,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.4 กก.-ม. ที่ 3,000 รอบ/นาทีจับคู่กับเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือแบบธรรมดา 5 จังหวะแต่ใช้คลัตช์ไฟฟ้า Dualogic มีอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร//ชั่วโมงใน 12.9 วินาที และความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง

อีกรุ่นเป็นทวินแคม 1,400 ซีซี 100 แรงม้า ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.4 กก.-ม. ที่ 4,250 รอบ/นาที เลือกได้ระหว่างเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ หรือแบบ Dualogic มีอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร//ชั่วโมงใน 10.5 วินาที และความเร็วสูงสุด 182 กิโลเมตร/ชั่วโมง และ รุ่นเทอร์โบดีเซลคอมมอนเรลในตระกูล Multijet ของเฟียตแบบ 4 สูบ ทวินแคม 1,300 ซีซี 75 แรงม้า ที่ 4,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.8 กก.-ม. ที่ 1,500 รอบ/นาที มีเฉพาะเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ พร้อมอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร//ชั่วโมงใน 12.5 วินาที และความเร็วสูงสุด 165 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ระบบ กันสะเทือนให้ความมั่นใจด้วยระบบอิสระ แม็กเฟอร์สันสตรัทสำหรับด้านหน้า และด้านหลังแบบทอร์ชันบีม ส่วนระบบเบรกเฉพาะรุ่น 1,400 ซีซีเป็นแบบดิสก์ 4 ล้อ ส่วนที่เหลือเป็นแบบดิสก์หน้า และดรัมเบรกด้านหลัง โดยที่ระบบพวงมาลัยติดตั้งเพาเวอร์ไฟฟ้าสำหรับช่วยผ่อนแรง

นอกจากนั้น เฟียตยังสร้างความแปลกใหม่ในการตกแต่งให้กับ 500 ใหม่ ด้วยการผลิตชุดแต่งมากกว่า 100 รายการและโทนสีต่างๆ ออกมาให้เลือกจับคู่กันตามความต้องการของลูกค้า

เปิด ตัวและเริ่มขายในยุโรปแล้ว โดยจะมีทั้งรุ่นพวงมาลัยซ้ายและขวากับราคาที่คาดว่าจะอยู่ในระหว่าง 8,000-9,000 ปอนด์ หรือ 560,000-630,000 บาท ส่วนใครที่รอตัวแรงในเวอร์ชันอาบาร์ธ อดใจอีกไม่นาน และคาดว่าจะทะยานกับสมรรถนะอันเร้าใจด้วยตัวเลขแรงม้าที่มากถึง 150 ตัวเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น: