วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ทดสอบ 'นิววีออส' เพิ่มความเนียน ท้าทายรถประหยัด

ลอง ย้อนความรู้สึกเราๆ ท่านๆ ตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา เห็นด้วยกับผมไหมว่า เราเริ่มคุ้นเคยกับราคาน้ำมันที่สูงบ้างต่ำบ้าง เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครรีบร้อนไปเติมน้ำมัน แม้วิทยุจะประกาศว่าพรุ่งนี้ ราคาน้ำมันจะขยับขึ้น เหตุผล คือ เริ่มมองว่ามันไม่คุ้มกับการตุนน้ำมันเต็มถัง 60 ลิตร 70 ลิตร แล้วได้ส่วนต่างไม่กี่บาท ความเคยเช่นนั้นเกิดขึ้นกับคนขับรถทั่วไปไม่เว้น รถเล็กรถใหญ่

10 ปีที่ผ่านมา ตลาดรถ บ้านเรา นอกจากปิกอัพจะครองตลาดแล้ว รถขนาดเล็กก็โตวันโตคืน รถราคาประหยัด ครอบครองได้ง่าย ซึ่งโตโยต้า เป็นค่ายแรกที่ขายรถในแนวทางนี้ รถที่จำกันได้ดี คือ โตโยต้า โซลูน่า เก๋งรูปทรงเหลี่ยมจัด ซึ่งทั้งสายการผลิตและการพัฒนาทำกันในประเทศไทย รถสมัยนั้นไม่เรียกกันว่า ซับคอมแพค คำนี้เพิ่งจะมาฮิตได้ไม่นานมานี้ครับ

โซลูน่า มาพร้อมกับคำว่า มอเตอร์ไรเซชั่น หรือยุคที่คนในสังคมไทยสามารถเป็นเจ้าของรถได้ง่าย ด้วยการที่ผู้ผลิตสร้าง ผลิตภัณฑ์ออกมาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดยุคมอเตอร์ไรเซชั่น ของไทย เช่นนี้เคยเกิดมาแล้วในญี่ปุ่นเมื่อ 20 ปี ก่อนซึ่งแสดงให้เห็นว่า สภาพเศรษฐกิจ สังคม พฤติกรรมซื้อ การใช้รถของเราพัฒนาตามหลังเขาอยู่ 20 ปี

นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้วครับ อย่างไรก็ตาม ด้วยกลไกของโลกไร้พรมแดนและเศรษฐกิจ ที่เปลี่ยนแปลงไป หลังเกิดมอเตอร์ไรเซชั่น ไม่นาน เราก็พัฒนาสู่ยุคทันสมัยได้ในเวลาสั้นๆ เห็นได้จากวิศวกรรมของรถยุคมอเตอร์ไรเซชั่น มาวันนี้ ไม่มีให้เห็นแล้ว

เช่น การเย็บเบาะกับหมอนรองให้เป็นชิ้นเดียวกัน ซึ่งเป็นการลดต้นทุนอย่างหยาบๆ เพื่อให้รถราคาต่ำลง หรือการออกแบบวิศวกรรมเพื่อลดค่าซ่อมค่าบำรุงรักษา เช่น การทำกันชน แยกออกเป็น 3 ชิ้น ก็กลายมาเป็นชิ้นเดียวขึ้นรูปทำหน้าที่ทั้งกันชน กระจังหน้า กาบข้าง และแอร์แดม เป็นต้น

วันนี้ ผู้ผลิตรถไม่ห่วงเรื่องใหญ่ๆ คือคนไม่มีเงินซื้อกับคนไม่มีเงินซ่อม เขาตัดเรื่องไม่มีเงินซ่อมออกไป เพราะว่าระบบประกันภัยพัฒนาขึ้น คงเหลือแต่เรื่องไม่มีเงินซื้อ ซึ่งเวลานี้เศรษฐกิจรวมนั้น ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลขิงแก่ล่ะคราวนี้จะผลักจะดันให้เงินทองสะพัดได้อย่าง ไร

สำหรับรถที่เป็นรอยต่อของมอเตอร์ไรเซชั่น ล่าสุดคือ โตโยต้า วีออส ซึ่งโตโยต้า มอเตอร์ เปิดตัว เป็นเจเนอเรชั่น 3 ในกลุ่มรถที่ผมกล่าว และก็ได้จัดให้สื่อมวลชนทดลองขับกัน ในเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

วีออส ใหม่นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับโมเดลเชนจ์ คือเปลี่ยนใหม่หมดจดแต่เท่าที่ดูสัดส่วนของเก่า คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ แล้วยังค่อนข้างมาก หลักๆ ที่วีออสเปลี่ยนคือ แพ็คเกจจิ้ง หรือโครงตัวถัง และการเซตติ้งต่างๆ ในส่วนของตัวถัง วีออสมีขนาดตัวรถภายนอกยาวกว่าโซลูน่า 15 มิลลิเมตร สั้นกว่าคู่แข่งสำคัญอย่างฮอนด้า ซิตี้ 90 มิลลิเมตร ความกว้าง กว้างกว่ารุ่นเดิม 5 มิลลิเมตร กว้างกว่าซิตี้ 10 มิลลิเมตร สูงกว่ารุ่นเดิม 25 มิลลิเมตร แต่เตี้ยกว่า ซิตี้ 25 มิลลิเมตร ขณะที่ห้องโดยสารภายในนั้น โตโยต้าระบุว่า มีความยาวเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิม 120 มิลลิเมตร และยาวกว่าคู่แข่ง 10 มิลลิเมตร เรียกว่าใกล้เคียงกับคู่แข่ง

ส่วนระบบหลัก คือ เครื่องยนต์ 1NZ-FE VVT-i DOHC 1500 ซีซี 4 สูบ 16 วาล์ว...กำลังม้าสูงสุด 80 กิโลวัตต์ (109 แรงม้า) ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 142 นิวตันเมตร (14.5 กก.-ม.) ที่ 4,200 รอบต่อนาที และระบบขับเคลื่อน ทั้งเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ ยังเป็นชุดเดิม ส่วนที่เป็นการพัฒนาขึ้นมาเพิ่มเติม เช่น ระบบคันไม่มีสายเคเบิล แต่เป็นการใช้ระบบไฟฟ้า ระบบช่วยเบรกบีเอ ระบบพวงมาลัยไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วนการเซตรถ วีออสคงได้วิจัยคนขับคนไทย มากขึ้นโดยเฉพาะรถเล็ก ซึ่งพี่ไทยเท้าหนักกดดันเต็มพิกัด ดังนั้น รถใหม่จะตั้งให้คนขับ รู้สึกว่า พวงมาลัยกระชับขึ้น ช่วงล่างทั้งชุดเซตให้เป็นแบบ สปอร์ตมากกว่าเดิม เพื่อรองรับการขับที่ความเร็วสูง

วีออสต้องมองกันหลายมุมครับ เพราะว่าวีออสใหม่ก็นำเอาจุดด้อยที่คนใช้ไม่ชอบ มาแก้ไข พร้อมเติมของใหม่ๆ ลงไป หากมองความลงตัวของรถระดับเดียวกัน จะพบว่า รถมีสมดุลในการออกแบบมากขึ้น ระยะล้อหน้าล้อหลัง กับระยะโอเวอร์แฮงค์ ดูแล้วกระชับ ส่วนนี้ทำได้ดีเพราะว่า การปั้นกันชนหน้าหลังแบบขึ้นรูป ชิ้นใหญ่ ทำให้ทรวดทรงดูลงตัว ซึ่งให้ความรู้สึกหรูด้วย

มาดูอุปกรณ์ภายในเล็กน้อย จะเห็นว่า วีออสเริ่มฉีกแนวเดิมๆ อย่าลืมว่ารถในตลาดนี้แนวคิดเดิมคือ ความประหยัด ทั้งการซื้อและการใช้ คนขายต้องขายรถในราคาที่ไม่สูงนัก เพราะคนซื้อกลุ่มนี้เงินน้อย แต่ว่าวีออสได้เติมเต็มความเนียนให้วัสดุในรถให้เพิ่มเกรดขึ้น มีความหรูหรามากขึ้น และหากดูไลน์อัพ จะพบว่า มีบางรุ่นให้อุปกรณ์มาตรฐานไม่แพ้รถรุ่นคัมรี่ เช่น ระบบ สตาร์ทแบบกดปุ่ม ระบบกุญแจอัจฉริยะ (เข้าออกประตูไม่ใช้กุญแจ) เป็นต้น คงทราบกันว่า โตโยต้านั้นใช้ชิ้นส่วนพื้นฐานร่วมกันหลายรุ่น ตลาดรถเล็ก ที่มีจำนวนมากจากความนิยมในตลาด ทำให้เริ่มมีความคุ้มค่าในแง่ของการผลิต นั่นคือที่มา

ข้อ เด่นในรถคันนี้อยู่ที่การไหลลื่นต่อเนื่องในการบังคับควบคุม ง่ายต่อการขับ (EASY To Drive) ซึ่งเป็นหัวใจของรถในเมือง การควบคุมรถทำได้ดีขึ้น อัตราเร่งแซง เบรก ให้ความรู้สึกที่เป็นจริงมาตามสั่ง

กำลังมาต่อเนื่องในเกียร์ต่ำ แต่เครื่องยนต์จัดจ้าน ไม่ว่าจะเค้นขนาดไหน เสียงดังที่ได้ยิน ไม่ถึงกับเพราะแต่ไม่น่ารำคาญ

ส่วนเสถียรภาพของการทรงตัวในทางตรง ความเร็วเดินทางไม่เกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ต้องใช้ทักษะการคุมรถ หากเพิ่มความเร็วขึ้นไปจะต้องเพิ่มทักษะมากขึ้น ตามความเร็วที่เพิ่มความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวรถอาจจะไม่โดด เด่นมาก

การปรับปรุงในวีออสใหม่ ที่เด่นอีกอย่าง คือ ความเงียบของเสียง จากถนนและเสียงลมทำได้ดี มาก นอกจากนี้ยังปรับช่องว่างการวางขา ทั้งคนนั่งเบาะหน้าและเบาะหลังมากขึ้น รวมแล้วเท้าสบาย ขยับง่าย

แต่หากจะให้ดีกว่านี้ หากสามารถปรับองศาเบาะหลัง เอนมากกว่านี้หน่อย หรือทำเบาะยกขอบเป็นกึ่งบักเก็ตซีท การนั่งโดยสารจะสบายกว่า และวีออสจะไม่ได้ยินเสียงติที่หลายคนพูดตรงกันในเรื่องนี้อีกเลยครับ


ที่มาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น: