วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ยุบได้อย่างไร

ที่มาจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
---------------------------------------------------

ผมเขียนต้นฉบับตอนนี้ขณะที่อยู่ในกรุงแคนเบอร์รา เมืองหลวงของประเทศออสเตรเลีย และเป็นวันที่ประเทศไทยกำลังมะรุมมะตุ้มกับการติดตามข่าวสารคดียุบพรรค การเมือง ก่อนที่ผมจะขึ้นเครื่องบินเดินทางออกจากประเทศไทย ยังทันได้รับทราบการตัดสินในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว แต่ส่วนของพรรคไทยรักไทยนั้น ผมไปทราบเอาเมื่อเครื่องบินร่อนลงที่สนามบินคิงส์ฟอร์ดสมิธไปแล้ว

ผลการตัดสินจะเป็นอย่างไร เหตุการณ์ต่อเนื่องจะเป็นอย่างไร ป่านนี้คงเป็นผลที่ได้รับรู้กันด้วยตนเองไปแล้ว ผมจึงไม่ขอเขียนล่วงหน้าให้ผิดพลาด เพราะการเมืองของไทยนั้นพลิกผันกันได้ทุกวินาที

ก่อนผมเดินทางไปกรุงแคนเบอร์รา สัก 3 เดือน ปรากฏว่าที่กรุงแคนเบอร์รา มีลูกเห็บตกลงมาอย่างหนัก ซึ่งการตกลงมาของลูกเห็บในครั้งนั้น รถยนต์มือสองที่ลูกชายของผมใช้อยู่ โดนลูกเห็บตกขณะที่ขับรถบนถนนจนฝากระโปรงหน้าและหลังคา เป็นรอยบุบแบบรอยลักยิ้มเต็มไปหมด

การเดินทางไปกรุงแคนเบอร์ราครั้งนี้ของผม จึงถือโอกาสไปซ่อมรอยบุบรอยลักยิ้มให้กับรถของลูกชายด้วย วิธีการซ่อมของผมคงไม่สามารถทำให้รอยบุบหายไปจนหมดได้ แต่ก็พอที่จะทำให้ร่องรอยความน่าเกลียดลดน้อยลงไปได้บ้าง ด้วยวิธีการง่ายๆ คือเอา "ค้อนหัวกลม" มาเคาะไปตรงรอยบุบเท่านั้นเอง

หลักการเคาะก็ไม่ยากอะไรนัก แต่ที่คนไม่กล้าทำเอง เพราะว่าส่วนใหญ่กลัวว่าหากเคาะหนักหรือแรงเกินไป รอยบุบจะเพิ่มมากขึ้น คนส่วนใหญ่จึงเคาะกันแบบเบามือจนกระทั่งรอยบุบไม่โป่งกลับขึ้นมา ผมก็ซ่อมรถให้ลูกด้วยวิธีการใช้ค้อนเคาะแบบหนามยอกเอาหนามบ่งนั่นละครับ

เพราะขืนไม่เคาะช่วยลูก ค่าซ่อมสีสำหรับวิธีการที่คนไทยเรียกว่า “สาดสีทั้งคัน” ที่นั่น ราคาเกือบ 5,000 เหรียญออสเตรเลีย คิดเป็นเงินไทยก็เอา 30 บาทคูณเข้าไปครับ ราคาค่าตัวรถยนต์ของลูกชายผม 2 คน รวมกันยังมากกว่าค่าทำสีไม่กี่ตังค์เอง จึงต้องไปสอนลูกๆ ให้รู้จักวิธีการช่วยตนเองในการดูแลรักษารถ ทั้งสอนให้รู้จักใช้รถให้อายุยืนยาวไม่ไปหาช่างบ่อย และรู้จักการทำซ่อมด้วยตนเองในกรณีที่ง่ายๆ ซึ่งช่วยประหยัดเงินไปได้มากทีเดียว

ลูกหลานคนอื่นๆ เวลาจะไปเรียนหนังสือต่างประเทศ เขาจะส่งไปฝึกฝนภาษาอังกฤษกันเต็มที่ แต่ลูกๆ ผมก่อนจะไปเรียนต่างประเทศ จะต้องมาฝึกการล้างจาน ฝึกการเสิร์ฟอาหารให้ถูกวิธี ฝึกตัดผมที่โรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ และต้องฝึกให้รู้จักการซ่อมก๊อกน้ำ, เปลี่ยนหลอดไฟ, ถ่ายน้ำมันเครื่องรถยนต์ ฯลฯ ฝึกฝนสิ่งที่ว่ามาเพื่อทำด้วยตนเอง เพื่อเป็นการประหยัดเงินที่พ่อแม่ไม่มีปัญญาส่งเสียเหมือนลูกคนอื่นเขา ลูกผมจึงช่วยตนเองได้มากเมื่อไปอยู่ต่างประเทศ นานๆ ผมก็ไปติวกวดวิชาเพิ่มเติมให้สักทีอย่างนี้ละครับ

อยู่ที่โน่นก็มีปัญหาที่ลูกคนเล็กผมถามเกี่ยวกับรถโฮลเดน คอมมอร์ดอร์ ของเขาว่า ทำไมยางล้อหน้าขวาถึงซึมอ่อนอยู่เรื่อย ตรวจเช็คทุกสัปดาห์จะพบว่าลมหายไปประมาณ 2-3 ปอนด์/ตารางนิ้ว เคยเอาไปให้ช่างที่รู้จักกันถอดยางออกมาตรวจดู ก็ไม่พบรอยรั่วแต่อย่างใด เสียค่าถอดตรวจไปตั้ง 10 เหรียญแน่ะ ขนาดสนิทกันนะเนี่ย

ผมจึงจัดการให้ลูกถอดยางออกมาจากตัวรถ เอายางทั้งกระทะนั่นละครับมาเติมลมอัดเข้าไปด้วยเครื่องปั๊มลมประจำรถจน แน่นเต็มที่เครื่องปั๊มอัดไม่เข้า ก็ประมาณสัก 40 กว่าปอนด์/ตารางนิ้วเห็นจะได้ แล้วจึงเอาสระว่ายน้ำแบบยางพลาสติกกลมๆ ที่เด็กๆ เล่นกันตามสนามหญ้ามาใส่น้ำให้เต็ม จากนั้นก็เอายางทั้งกระทะกดลงไปให้จมในสระน้ำเด็กเล่นนั้น เอาผ้ามาลูบล้างที่ยางกับกระทะให้เกลี้ยงเกลา เพื่อเป็นการรอเวลาให้ฟองอากาศที่อาจจะติดค้างหลงเหลืออยู่ตามซอกหลืบของ ยางผุดขึ้นมาให้หมด

ทิ้งรอเวลาสักพักหนึ่งก็พบว่ายังมีฟองน้ำผุดขึ้นมาเป็นสายไม่ หยุด ผมจึงชี้ให้ลูกดูและบอกว่ายางรั่วแน่นอน แล้วจึงเอาปากกาเมจิคมาขีดวงรอบรอยที่ฟองอากาศผุดขึ้นมา พอเอายางขึ้นมาจากอ่างน้ำและช่วยกันใช้แว่นขยายส่องดู จึงพบว่ามีโลหะคล้ายเข็มหมุดเล็กๆ ฝังอยู่กับเนื้อยาง

แรกทีเดียวลูกชายผมจะเอาคีมมาคีบเข็มหมุดอันนั้นออก แต่ผมห้ามเอาไว้ และแนะนำว่าให้ทำเครื่องหมายบอกตำแหน่งให้ดี แล้วเอากลับไปให้ช่างจัดการปะยางและคีบเอาเข็มหมุดออกให้หมด หรือจะทำเองก็ให้ไปหาซื้อน้ำยาอุดรอยรั่วมา 1 กระป๋อง (ราคาประมาณ 15 เหรียญ หรือ 450 บาท)

และถ้ายังต้องใช้ยางไปอีกนานไม่น้อยกว่า 1 ปี ก็ให้เอาน้ำยาฉีดอัดเข้าไปตรงบริเวณหัวจุ๊บที่เติมลม แล้วจึงเอาคีมดึงเข็มหมุดออกมา น้ำยาจะไปอุดรอยรั่วที่โดนเข็มหมุดแทง แต่ต้องรับรู้ว่าหากขับรถเร็วเมื่อใด อาการพวงมาลัยสั่นอาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่ต้องตกใจและไปหาทางแก้ให้เสียเงินเปล่า

แต่หากจะต้องเปลี่ยนยางในช่วงเร็วๆ นี้ ก็ปล่อยวางมันไว้บ้าง แต่หมั่นตรวจเช็คลมยางบ่อยๆหน่อย เฉพาะเส้นที่มีปัญหา เอาชนิดวันเว้นวันก็ได้ อ่อนลงสัก 2 ปอนด์/ตารางนิ้ว ก็เอาที่เติมลมประจำรถมาเติมเข้าไปให้แข็งกว่าเส้นอื่นสัก 2 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ใช้ไปอย่างนี้ก็พอทนได้อีก 2-3 เดือน แล้วค่อยเปลี่ยนยางใหม่เท่านั้นเอง

วิธีการอย่างนี้ ผมไม่แนะนำสำหรับคนที่ต้องขับรถไปในที่เปลี่ยวบ่อยๆ หรือผู้ที่ต้องขับรถเดินทางไกลเป็นระยะทางยาวๆ ต่อเนื่องนะครับ


ไม่มีความคิดเห็น: